หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 วัฒนธรรมไทย
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวัฒนธรรม วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือ วัฒนธรรมไทย ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวัฒนธรรม วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือ แนวทางการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคกลาง ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมสากล วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออก เฉียงเหนือ วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวัฒนธรรม
วัฒนธรรม หมายถึง แบบอย่างหรือวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนแต่ละกลุ่ม เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขในสังคม วัฒนธรรมแต่ละสังคมจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางภูมิศาสตร์และทรัพยากรต่างๆ ลักษณะอีกประการหนึ่งของวัฒนธรรมคือ เป็นการสั่งสมความคิด ความเชื่อ วิธีการ จากสังคมรุ่นก่อนๆ มีการเรียนรู้ และสามารถถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อๆ ไปได้ เช่น ภาษา กฎหมาย ศิลปะ เป็นต้น
ความสำคัญของวัฒนธรรม วัฒนธรรมช่วยสร้างระเบียบให้กับสังคม โดยเป็นตัวกำหนดแบบแผนพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม รวมถึงการสร้างแบบแผนของความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของสมาชิกให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน วัฒนธรรมช่วยให้เกิดความสามัคคี สังคมที่มีวัฒนธรรมเดียวกันย่อมจะมีความรู้สึกผูกพัน เกิดความเป็นปึกแผ่น อุทิศตนให้กับสังคมทำให้สังคมอยู่รอด วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดรูปแบบของสถาบัน ได้แก่ รูปแบบของสถาบันครอบครัว ซึ่งจะเห็นได้ว่าลักษณะของครอบครัวแต่ละสังคมต่างกันไป ทั้งนี้เนื่องจากวัฒนธรรมในสังคมเป็นตัวกำหนดรูปแบบ เช่น วัฒนธรรมแบบสามีภรรยาเดียว เป็นต้น
วัฒนธรรมเป็นเครื่องแสดงเอกลักษณ์ของชาติ ชาติที่มีวัฒนธรรมสูง ย่อมได้รับการยกย่องและเป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติ วัฒนธรรมช่วยให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า หากสังคมใดมีวัฒนธรรมที่ดีงามเหมาะสม เช่น ความมีระเบียบวินัย ขยัน อดทน เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน เป็นต้น สังคมนั้นย่อมจะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตภายใต้สิ่งแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นมนุษย์ต้องแสวงหาความรู้จากประสบการณ์ที่ตนได้รับ ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตและถ่ายทอดจากสมาชิกรุ่นหนึ่งไปสู่สมาชิกรุ่นต่อไปได้
ประเภทของวัฒนธรรม คติธรรม เป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับหลักในการดำเนินชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของจิตใจซึ่งได้เรียนรู้จากศาสนา เช่น ความเมตตากรุณา ความกตัญญูกตเวที เป็นต้น วัตถุธรรม เป็นวัฒนธรรมทางวัตถุ ที่สามารถจับต้องสัมผัสได้ เช่น บ้านเรือน อาหาร เครื่องแต่งกาย เป็นต้น เนติธรรม เป็นวัฒนธรรมทางกฎหมาย รวมทั้งระเบียบประเพณีที่ยอมรับนับถือ เช่น กฎหมาย กฎศีลธรรม จารีตประเพณี เป็นต้น สหธรรม เป็นวัฒนธรรมทางสังคมที่เกี่ยวกับหลักการปฏิบัติทางสังคม รวมทั้งมารยาทต่างๆ ในสังคม เช่น มารยาทในการเข้าสังคม มารยาทบนโต๊ะอาหาร
วัฒนธรรมไทย
ลักษณะของวัฒนธรรมไทย เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ พสกนิกรทุกหมู่เหล่าให้ความเคารพเทิดทูน ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในรูปของความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ซึ่งเป็นที่ยอมรับและมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนในสังคมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติที่คนไทยสามารถพูดและเขียนอ่านได้ ภาษาไทยจึงเชื่อมโยงคนในชาติให้เข้าใจวัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี
การนับถือผู้อาวุโส เป็นวัฒนธรรมที่มีการปฏิบัติมาช้านาน โดยผู้ที่มีอายุน้อยกว่าจะให้ความเคารพนับถือผู้ที่มีอายุมากกว่า แสดงความเคารพโดยการไหว้ การทักทาย เป็นต้น เป็นวัฒนธรรมเกษตรกรรม โดยประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบทและมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ผูกพันกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อันเป็นรากฐานแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือ
วัฒนธรรมด้านอาหาร อาหารของภาคเหนือ มีลักษณะสำคัญ คือ รสชาติไม่จัด ไม่นิยมใส่น้ำตาลในอาหาร ความหวานจะได้จากส่วนผสมของอาหารนั้นๆ ได้แก่ แกงฮังเล เป็นอาหารประเภทแกงรสชาติเค็ม-เปรี้ยว ส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ เนื้อหมู พริกแห้ง หอมแดง ข่า ตะไคร้ ผงฮังเล เป็นต้น แกงแค เป็นแกงที่ประกอบด้วยผักหลายชนิด และมีเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสมด้วยหนึ่งอย่าง เช่น แกงแคไก่ แกงแคปลา ส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ ผักตำลึง ผักชะอม ถั่วฝักยาว พริกแห้ง ข่า ตะไคร้ หอมแดง และดอกแค น้ำพริกหนุ่ม เป็นอาหารพื้นบ้านล้านนาที่รู้จักกันทั่วไป ส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่ พริก กระเทียม ผักสดต่างๆ เป็นต้น โดยมักจะรับประทานกับแคบหมู
วัฒนธรรมด้านศาสนาและลัทธิความเชื่อ วัฒนธรรมของภาคเหนือ เป็นวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ยังคงยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีของพระพุทธศาสนา ที่มีการสืบทอดมาเป็นเวลายาวนาน ได้แก่ การทำบุญทอดผ้าป่าแถว โดยกระทำพร้อมกันทุกวัดในคืนวันลอยกระทงหรือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยชาวบ้านจะจัดหากิ่งไม้ เทียนไข ผ้า ข้าวสาร อาหารแห้ง และบริขาร ไว้ประกอบพิธี งานบุญตานก๋วยสลาก จะทำในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี เพื่อเป็นการอุทิศ ส่วนกุศลไปให้ผีปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองสืบไป งานประเพณีสืบชะตา ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนา กระทำขึ้นเพื่อยืดชีวิต ด้วยการทำพิธีเพื่อให้รอดพ้นความตาย เป็นประเพณีที่คนล้านนานิยมกระทำมาจนถึง ทุกวันนี้
วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคกลาง
วัฒนธรรมด้านอาหาร อาหารของภาคกลาง มีลักษณะสำคัญ คือ มีความหลากหลายในการปรุง การตกแต่งอาหาร โดยรสชาติจะมีรส เค็ม เผ็ด เปรี้ยว หวาน เคล้ากันไปตามชนิดของอาหาร ได้แก่ แกงส้ม เป็นแกงที่ใส่เนื้อสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นปลาหรือกุ้ง ส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ เนื้อสัตว์ น้ำพริกแกงส้ม พริกขี้หนู หอมแดง กะปิ เป็นต้น ห่อหมก เป็นอาหารที่มีมาตั้งแต่โบราณ ส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ เนื้อปลา ใบยอ หัวหอม ใบมะกรูด พริกแกง ข่า ตะไคร้ เป็นต้น น้ำพริกปลาทู เป็นอาหารที่ได้รับความนิยม เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของภาคกลางเป็นที่ราบลุ่ม มีความอุดมสมบูรณ์ โดยส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ ปลาทู พริกขี้หนู หอมแดง กระเทียม มะนาว เป็นต้น
วัฒนธรรมด้านศาสนาและลัทธิความเชื่อ วัฒนธรรมของภาคกลาง เป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา ที่มีความเชื่อมโยงกับประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ และการดำเนินชีวิต ได้แก่ ประเพณีรับบัวโยนบัว เป็นประเพณีประจำท้องถิ่นของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 โดยชาวบ้านจะพากันมาคอยนมัสการหลวงพ่อโสธรอยู่ริมคลองและเด็ดดอกบัวโยนขึ้นไปบนเรือของหลวงพ่อ จนกลายเป็นประเพณีที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน การบูชารอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลบูชารอยพระพุทธบาท คือ ช่วงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 จะมีประชาชนทั่วทุกสารทิศมานมัสการรอยพระพุทธบาทในพระมณฑปอย่างมากมาย
วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
วัฒนธรรมด้านอาหาร อาหารของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะสำคัญ คือ มีรสจัด มีผักเป็นส่วนประกอบหลัก อาหารจะมีลักษณะแห้ง ข้น หรือมีน้ำขลุกขลิก ไม่นิยมใส่กะทิ ได้แก่ แกงหน่อไม้ เป็นอาหารพื้นบ้านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ หน่อไม้สด พริกขี้หนู หัวหอม ตะไคร้ เป็นต้น ลาบ เป็นอาหารที่รับประทานง่ายและแพร่หลายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ รวมถึงประเทศลาว ส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ ต้นหอม พริกขี้หนู เป็นต้น ส้มตำ เป็นอาหารยอดนิยมที่มีต้นกำเนิดจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ มะละกอดิบ มะเขือเทศ ถั่วลิสง พริก และกระเทียม นิยมรับประทานกับข้าวเหนียวและไก่ย่าง
วัฒนธรรมด้านศาสนาและลัทธิความเชื่อ วัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเอกลักษณ์บนพื้นฐานประวัติศาสตร์ อันยาวนาน มีความเกี่ยวข้องกับแนวคิด ความศรัทธา และความเชื่อที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ได้แก่ บุญบั้งไฟ เป็นประเพณีที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมของทุกปี โดยชาวนาจะขอฝนจากพญาแถนตามความเชื่อ จึงมีการจัดพิธีบูชาพญาแถนทุกปีด้วยการทำบั้งไฟ การแห่ผีตาโขน จัดขึ้นที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ผีตาโขนนั้นเดิมมีชื่อเรียกว่า ผีตามคน เป็นเทศกาลที่ได้รับอิทธิพลมาจากมหาเวสสันดรชาดกในทางพระพุทธศาสนาที่ว่าเมื่อพระเวสสันดรและพระนางมัทรี จะเดินทางออกจากป่า กลับสู่เมืองหลวง บรรดาภูติผีที่อาศัยอยู่ในป่านั้น ได้ออกมาส่งเสด็จด้วย
วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้
วัฒนธรรมด้านอาหาร อาหารของภาคใต้ มีลักษณะที่สำคัญ คือ รสจัดจ้าน นิยมใส่เครื่องเทศ เช่น ขมิ้น เนื่องจากช่วยดับกลิ่นคาวของอาหาร โดยอาหารภาคใต้จะไม่เน้นรสหวาน ได้แก่ แกงเหลือง เป็นอาหารชนิดหนึ่งของภาคใต้ ส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ เนื้อสัตว์ พริก ขมิ้นชัน กะปิ น้ำมะนาว เป็นต้น โดยมักจะรับประทานคู่กับผักสด แกงไตปลา เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมากในภาคใต้ ส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ เนื้อปลา พริกขี้หนู ตะไคร้ กระเทียม ขมิ้น กะปิ เป็นต้น ข้าวยำ เป็นอาหารไทยภาคใต้ โดยถือกันว่าเป็นอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วน และมีคุณลักษณะพิเศษแตกต่างจากอาหารจานเดียวทั่วไป ส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่ ข้าวสวย ข่า ตะไคร้ พริก ถั่วงอก เป็นต้น
วัฒนธรรมด้านศาสนาและลัทธิความเชื่อ วัฒนธรรมของภาคใต้ มีความเป็นมาอันยาวนาน เป็นแหล่งอารยธรรมของพระพุทธศาสนา ซึ่งได้หล่อหลอมกับความเชื่อดั้งเดิม ก่อให้เกิดประเพณีที่สำคัญ ได้แก่ ประเพณีชักพระ เป็นประเพณีพื้นเมืองของชาวภาคใต้ โดยพุทธศาสนิกชนจะ พร้อมใจกันอัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่วางอยู่ตรงร้านไม้ แล้วลากหรือแห่ไปตามถนนหนทาง แม่น้ำลำคลอง หรือริมฝั่งทะเล ประเพณีตักบาตรธูปเทียน เป็นประเพณีที่เป็นส่วนหนึ่งของการถวายสังฆทานใน วันเข้าพรรษา ช่วงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งการตักบาตรธูปเทียนจะมีขึ้น ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช
ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทย กับวัฒนธรรมสากล
ปรัชญากับธรรมชาติ วัฒนธรรมไทยเน้นปรัชญา “มนุษย์สอดคล้องกับธรรมชาติ” เป็นอันหนึ่งอันเดียว กับธรรมชาติ ดังนั้น คนไทยจึงนิยมสร้างวัฒนธรรมให้กลมกลืนกับธรรมชาติ เช่น การทำขวัญข้าว ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นต้น วัฒนธรรมสากลเน้นปรัชญา “มนุษย์เป็นนายธรรมชาติ” สามารถบังคับธรรมชาติ ให้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ทั้งหมด จนนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นวัตถุและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้แก่มนุษย์ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ รถไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
โลกทัศน์ วัฒนธรรมไทยมองโลกแบบองค์รวม ทุกสิ่งหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ โดยองค์ประกอบทั้งหลายมีความสมดุล ช่วยจรรโลงโลกให้มีความน่าอยู่ รื่นรมย์ และสงบสุข วัฒนธรรมสากลมองทุกสิ่งเป็น 2 ส่วนเสมอ เช่น ขาว-ดำ ทันสมัย-ล้าสมัย จึงมีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนสิ่งที่ล้าสมัยให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น
วิธีการทางวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมไทยเน้นความคิดความเชื่อตามหลักธรรมทางศาสนา ยึดมั่นในความจริงควบคู่ไปกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ บนพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ โดยครอบคลุมถึงเรื่องการดำเนินชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม วัฒนธรรมสากลเน้นทฤษฎีและการพิสูจน์บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ มีการตั้งสมมติฐาน วิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นเหตุเป็นผล นำไปใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเทคโนโลยีขั้นสูง
แนวทางการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย
แนวทางการอนุรักษ์และถ่ายทอดวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมให้ชนทุกกลุ่มเห็นคุณค่า และร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่น อันเป็นมรดกของชาติไม่ให้สูญหายไป ขยายขอบเขตการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม รณรงค์ให้ประชาชน เอกชน ตลอดจนหน่วยงานของรัฐเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมไทย นำไปสู่การประสานงาน การบริการความรู้ ตลอดจนการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เป็นต้น ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยใช้วัฒนธรรมเป็นสื่อกลางสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน
สร้างทัศนคติ ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับวัฒนธรรมว่าเป็นทรัพย์สมบัติของทุกคน ดังนั้น ทุกคนจึงมีหน้าที่ในการดูแลรักษาวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไป ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักใช้สิทธิและหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เช่น สิทธิในการอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น จัดทำระบบเครือข่ายสารสนเทศทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ ข้อมูล ประชาสัมพันธ์งานต่างๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย
แนวทางการเลือกรับวัฒนธรรมสากล วัฒนธรรมสากลต้องสามารถผสมผสานเข้ากับโครงสร้างทางสังคม ค่านิยม และ ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยได้ วัฒนธรรมสากลต้องมีส่วนเกื้อหนุนให้วัฒนธรรมไทยเกิดความก้าวหน้า เช่น การนำวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต หรือการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น วัฒนธรรมสากลต้องสามารถอยู่ร่วมกับวัฒนธรรมไทยได้ เมื่อมีวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามา จำเป็นต้องเลือกสรรวัฒนธรรมมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้รอดพ้นจากการครอบงำของวัฒนธรรมสากลที่มีอิทธิพลมากในยุคปัจจุบัน