หน้าที่ของตัวแทน.

งานนำเสนอที่คล้ายกัน


งานนำเสนอเรื่อง: "หน้าที่ของตัวแทน."— ใบสำเนางานนำเสนอ:

1 หน้าที่ของตัวแทน

2 หน้าที่ของตัวแทนต่อตัวการ
หน้าที่ตามสัญญาตัวแทน หน้าที่ทำการเป็นตัวแทน หน้าที่ปฎิบัติตามคำสั่งของตัวการ ม.807 หน้าที่ทำการเป็นตัวแทนด้วยตนเอง ม.808 หน้าที่แจ้งความเป็นไปและแถลงบัญชี ม.809 หน้าที่ส่งมอบเงินและทรัพย์สินแก่ตัวการ ม.810 หน้าที่ทำการร่วมกับตัวแทนอื่นๆ หน้าที่ไม่เข้าทำการแทนในกิจการที่ผลประโยชน์ขัดกัน ม.805 หน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังและรอบคอบ ม.807ว.2

3 1.หน้าที่ตามสัญญา หน้าที่ของตัวแทนอันนี้ เป็นผลของการตกลงเกี่ยวกับหน้าที่ของตัวแทนตามสัญญาตัวแทนว่า ตัวแทนจักต้องทำการใดๆบ้าง เช่น ตัวการมอบอำนาจให้ตัวแทนดำเนินการเกี่ยวกับการปล่อยกู้ โดยสัญญาตั้งตัวแทนระบุให้มีอำนาจให้กู้ยืม รับชำระหนี้ ตลอดจนดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดีกับลูกหนี้เงินกู้

4 2.หน้าที่ทำการเป็นตัวแทน
เป็นผลมาจากการเกิดสัญญาตัวแทน เมื่อรับทำการเป็นตัวแทนแล้ว ตัวแทนก็ต้องทำการแทนตัวการในกิจการที่ตนรับดำเนินการแทน หากตัวแทนไม่ทำหน้าที่อันนี้ แล้วก่อความเสียหายแก่ตัวการ ตัวแทนจะต้องรับผิดต่อตัวการ ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 812 “ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใดๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด”

5 3.หน้าที่ปฎิบัติตามคำสั่งตัวการ
มาตรา 807 ตัวแทนต้องทำการตามคำสั่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายของตัวการ เมื่อไม่มีคำสั่งเช่นนั้น ก็ต้องดำเนินตามทางที่เคยทำกันมาในกิจการค้าขายอันเขาให้ตนทำอยู่นั้น อนึ่งบทบัญญัติมาตรา 659 ว่าด้วยการฝากทรัพย์นั้น ท่านให้นำมาใช้ด้วยโดยอนุโลมตามควร

6 กรณีมีคำสั่ง ไม่ว่าคำสั่งจะชัดแจ้ง หรือเป็นคำสั่งปริยายก็ตาม
ชัดแจ้ง เช่น เป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวาจา ปริยาย คือ ตัวการไม่ได้มีคำสั่งโดยชัดแจ้งออกมา แต่พฤติการณ์ หรือการแสดงออกบางอย่าง บางอริยาบถของตัวการเป็นที่เข้าใจได้ว่า ตัวการได้ยอมรับ หรือเห็นด้วยที่จะให้ตัวแทนกระทำการใด หรือไม่กระทำการใด เพียงแต่ตัวการยังไม่มีโอกาสแสดงออกให้ชัดแจ้ง “คำสั่ง” หมายถึง สิ่งที่เป็นคำบัญชาให้ตัวแทนต้องทำ มิใช่เป็นเพียงข้อแนะนำ คำสั่งต้องมีลักษณะว่า ถ้าไม่ปฎิบัติตามแล้วจะส่งผลในทางกฎหมาย หรือตัวแทนต้องรับผิด

7 กรณีไม่มีคำสั่ง ไม่มีคำสั่ง หมายถึง ตัวการไม่ได้ให้คำสั่งไว้เลย ไม่ว่าจะด้วยลายลักษณ์อักษร หรือโดยปริยาย เมื่อไม่มีคำสั่ง ม.807 ให้พิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวการ และตัวแทนที่เคยปฎิบัติต่อกันมาในกิจการ หรือธุรกิจเรื่องนั้นๆ โดยอาจพิจารณาจากการที่ตัวการเคยมอบอำนาจ หรือ ที่เคยให้คำสั่งไว้คราวก่อนๆ ถ้าตัวแทนได้เคยปฎิบัติเช่นนั้นด้วยความสุจริตใจและปฎิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของตัวการด้วยความระมัดระวังแล้ว การกระทำของตัวแทนถือว่าได้ปฎิบัติตามคำสั่งของตัวการโดยชอบแล้ว เช่น เคยขายสินค้าแล้วซื้อจำนวนมากจะให้ส่วนลด ต่อมาไม่ได้ขายสินค้าตัวนั้นแล้ว ภายหลังกลับมาขายอีก ก็ปฎิบัติเช่นเดิม คือให้ส่วนลดได้

8 อธิบาย มาตรา 807 ว.2 มาตรา 807 วรรคสอง ให้นำมาตรา 659 ว่าด้วยการฝากทรัพย์นั้น ท่านให้นำมาใช้ด้วยโดยอนุโลมตามควร หมายความว่า เอามาตรา 659 มาใช้เพื่อพิจารณาว่า ตัวแทนจะต้องใช้ระดับความระมัดระวังเพียงใด ซึ่งการรับฝากทรัพย์นั้นมีระดับความระมัดระวังในการรักษาทรัพย์อยู่ 3 ระดับ ไม่มีบำเหน็จ ก็ประพฤติเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง มีบำเหน็จค่าฝาก จำต้องใช้ความระมัดระวังเช่นวิญญูชนรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด ก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น

9 หน้าที่ทำการด้วยตนเอง
มาตรา 808 ตัวแทนต้องทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอำนาจใช้ตัวแทนช่วงทำการได้ อธิบาย : โดยหลักตัวการตั้งตัวแทนให้ทำการแทนตน ก็เพราะได้มีโอกาสพิจารณาและเลือกสรรคนที่ตนไว้ใจให้ทำการแทนแล้ว ดังนั้นการที่ตัวแทนจะมอบให้ผู้อื่นทำการแทนต่ออีกนั้น จึงเป็นเรื่องที่อาจไม่ต้องประสงค์ของตัวการ ดังนั้นการจะตั้งตัวแทนช่วงได้จึงอาจเกิดจาก 1. คำสั่งของตัวการไม่ว่าโดยชัดแจ้ง หรือปริยาย 2. ตัวแทนในเหตุฉุกเฉิน 3. สภาพแห่งกิจการที่ให้กระทำจำเป็นต้องให้ผู้อื่นทำต่อไป

10 ตัวแทนช่วง ตัวแทนช่วง คือ บุคคลที่ตัวการมิได้แต่งตั้งให้กระทำการแทนตนโดยตรง แต่เป็นบุคคลที่ตัวแทนได้ใช้ ได้มอบให้ทำการแทนตัวแทน(หรือก็คือทำการแทนตัวการ)อีกที ไม่จะเป็นการทำการแทนทั้งหมดหรือบางส่วนของกิจการที่ตัวแทนต้องกระทำการแทนตัวการก็ตาม ความรับผิดของตัวแทนในการตั้งตัวแทนช่วงนั้น ถ้าตัวแทนมีอิสระในการเลือกตัวแทนช่วง ตัวแทนจะรับผิดก็ต่อเมื่อเลือกไม่ดีแล้วก่อความเสียหายแก่ตัวการ ตามมาตรา 812 แต่กรณีตั้งผู้ที่ตัวการกำหนดไว้ ตัวแทนจะรับผิดในผลความเสียหายจากการกระทำของตัวแทนช่วงก็ต่อเมื่อรู้อยู่ว่าตัวแทนช่วงที่กำหนดมานั้น ไม่เหมาะแก่การ หรือไม่สมควรไว้วางใจ แต่ตัวแทนเองละเลยไม่แจ้ง หรือถอดถอนตัวแทนช่วงนั้น

11 ผลของการฝ่าฝืนมาตรา 808 ถือว่าตัวแทนกระทำเกินอำนาจ ตามมาตรา 823
ถือว่าการกระทำของตัวแทนช่วงที่ทำไว้กับบุคคลภายนอก ไม่ผูกพันตัวการ คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ /2495(ป) ตัวการมอบอำนาจให้ตัวแทนฟ้องคดีความ และให้มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงได้นั้น ผู้รับมอบอำนาจช่วงจะมอบอำนาจช่วงต่อไปอีกโดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจที่ตัวการมอบอำนาจแก่ตัวแทนขึ้นอ้างนั้น ย่อมเป็นการเกินกว่าขอบเขตอำนาจ ดังนั้นผู้รับมอบอำนาจจากผู้รับมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้

12 คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 597/2507
ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ตั้งทนายความเพื่อดำเนินคดีในศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มิใช่การตั้งตัวแทนช่วง คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 615/2524 ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ถือว่าเป็นตัวแทนเฉพาะการ ดังนั้นจึงมีสิทธิตั้งทนายความเพื่อดำเนินคดีในศาล อันเป็นการกระทำในกรอบอำนาจเท่าที่จำเป็นต้องกระทำเพื่อให้การเสร็จสิ้น มิใช่การตั้งตัวแทนช่วง

13 หน้าที่ทำการร่วมกับตัวแทนอื่นๆ
มาตรา 804 ถ้าในสัญญาอันเดียวตัวการคนเดียวตั้งตัวแทนหลายคนเพื่อแก่การอันเดียวกันไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตัวแทนจะต่างทำการนั้น ๆ แยกกันไม่ได้ อธิบาย มาตรา 804 จะนำมาใช้ก็ต่อเมื่อ ในการตั้งตัวแทนทั้งหลายนั้นเกิดมีขึ้นจากสัญญาฉบับเดียวกัน ตัวแทนทั้งหลายนั้นตั้งเพื่อทำกิจการอันเดียวกัน กฎหมายใช้คำว่า “ให้สันนิษฐาน” ดังนั้นถ้ามีข้อเท็จจริงเป็นอื่น หรือมีการกำหนดให้แยกกันทำการได้ก็ให้เป็นไปตามนั้น

14 ข้อยกเว้น มาตรา 804 กรณีฉุกเฉิน เพื่อป้องกันความเสียหายแก่ตัวการ ตามมาตรา 802 เช่นนี้ตัวแทนเพียงลำพังคนเดียวก็มีอำนาจจัดการแทนได้ คำสั่งของตัวการที่ให้ไว้ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งที่มีมาตั้งแต่ต้น หรือที่ได้ให้ไว้ภายหลังการตั้งตัวแทนทั้งหลายแล้วก็ตาม

15 หน้าที่ส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินที่รับไว้
มาตรา 810 เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น อนึ่งสิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเอง แต่โดยฐานที่ทำการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น อธิบาย : สิ่งที่ต้องส่งคืนคือ 1) เงิน 2) ทรัพย์สิน 3) สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มา

16 ข้อสังเกต “ที่ตัวแทนได้รับไว้” หมายถึง เงินทอง ทรัพย์สินที่ตัวการ ให้ไว้เพื่อประโยชน์ในการทำการเป็นตัวแทน เพื่อประโยชน์ในกิจการที่มอบให้ไปทำ หรืออาจเป็นเงินทอง ทรัพย์สินที่บุคคลภายนอกส่งมอบแก่ตัวแทนอันเนื่องมาจากกิจการที่ตัวการใช้ให้ไปทำ สิ่งที่ตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเองก็ต้องส่งแก่ตัวการด้วย เช่น ตัวการมอบให้ตัวแทนไปซื้อคอมพิวเตอร์จำนวน 100 เครื่อง จากบริษัทใดก็ได้ ปรากฏว่าตัวแทนเลือกซื้อจากบริษัท A เพราะ บริษัทให้ข้อเสนอว่า ถ้าตัวแทนซื้อจำนวนมากจะแถมโทรทัศน์สีให้ตัวแทน 1 เครื่อง ตัวแทนจึงตกลงซื้อจากบริษัท A เช่นนี้โทรทัศน์สีดังกล่าวจึงสิ่งที่ตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเอง แต่โดยฐานที่เป็นตัวแทนด้วย

17 ข้อสังเกต เวลาที่จะต้องส่งมอบ กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าต้องส่งมอบแก่ตัวการโดยไม่ชักช้า ถ้ากิจการที่ตัวการใช้ให้ไปทำเป็นกิจการมิชอบด้วยกฎหมาย ตัวแทนมีหน้าที่จะต้องส่งมอบทรัพย์ที่ได้รับจากบุคคลภายนอกอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าสัญญาตัวแทนมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ เช่น ตั้งตัวแทนไปพนันฟุตบอล แม้ชนะได้เงินมา ตัวแทนก็ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งมอบเงินนั้นอีก เพราะสัญญาตัวแทน ตกเป็นโมฆะ ตาม ม.150 มาแต่ต้น แม้การตั้งตัวแทนจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ตัวการก็ฟ้องเรียกให้ตัวแทนส่งมอบทรัพย์สินได้

18 ข้อสังเกต ในระหว่างที่ทรัพย์สิน อยู่ในความดูแลครอบครองของตัวแทน ตัวแทนจะอ้างเป็นการครอบครองปรปักษ์มิได้ เพราะเป็นการครอบครองยึดถือทรัพย์สินของตัวการ ไว้แทนตัวการเท่านั้น หากประสงค์จะครอบครองปรปักษ์จริง จะต้องมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือก่อน ตาม มาตรา 1381 การที่ตัวแทนไม่ยอมส่งมอบเงิน หรือทรัพย์สินแก่ตัวการแล้วก่อความเสียหาย ตัวแทนต้องรับผิดต่อตัวการ ตาม มาตรา 812 นอกจากนี้ถ้าตัวแทนได้เอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ตัวการไปใช้ประโยชน์เสียเอง ต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยให้ตัวการด้วย ตาม มาตรา 811

19 หน้าที่ไม่เข้าทำนิติกรรมในนามของตัวการกับตัวเอง
มาตรา 805 ตัวแทนนั้น เมื่อไม่ได้รับความยินยอมของตัวการจะเข้าทำนิติกรรมอันใดในนามของตัวการทำกับตนเองในนามของตนเองหรือในฐานเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ เว้นแต่นิติกรรมนั้นมีเฉพาะแต่การชำระหนี้ อธิบาย 1.ห้ามเข้าทำนิติกรรมอันใดในนามของตัวการทำกับตนเอง 2.ห้ามเข้าทำนิติกรรมอันใดในฐานเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอก ข้อยกเว้น – ตัวการยินยอม – เป็นการชำระหนี้ เช่น นาย ก.ปล่อยเงินกู้ ได้ตั้ง นาย ข.ให้มีหน้าที่รับชำระหนี้เงินกู้จากลูกหนี้ทั้งปวง ต่อมา นาย ค.พ่อของ ข.ได้ฝากเอาเงินมาชำระ นาย ข.จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของทั้งนาย ก.และ ค. ย่อมทำได้

20 ความรับผิดตัวแทนต่อตัวการ

21 ความรับผิดของตัวแทน มาตรา 812 ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใดๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด อธิบาย : ตัวแทนนั้นเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนตัวการ ตัวแทนจึงต้องกระทำการด้วยความระมัดระวังและสุจริต หากเกิดความเสียหายขึ้นแก่ตัวการอันเป็นผลจากการที่ตัวแทน 1.ประมาท 2.ไม่ทำการเป็นตัวแทนที่ดี 3.ทำเกินอำนาจ หรือไม่มีอำนาจ ตัวแทนก็ต้องรับผิดต่อตัวการตามมาตรา 812 นี้

22 อธิบาย ประมาท พิจาณาจากระดับการใช้ความระมัดระวัง ตามที่ มาตรา 807ว.2 บัญญัติให้นำ มาตรา 659 มาใช้ ถ้าได้ใช้ความระมัดระวังตามระดับที่กฎหมายกำหนดแล้วก็ไม่เรียกว่ากระทำการโดยประมาท ไม่ทำการเป็นตัวแทน(ที่ดี) คือ ไม่ทำการที่มอบหมายให้กระทำ รวมถึงไม่ทำหน้าที่ของการเป็นตัวแทนด้วย อนึ่ง การที่ตัวการให้สัตยาบันต่อการกระทำที่นอกขอบอำนาจ ซึ่งส่งผลให้ตัวการเข้าผูกพันตนต่อบุคคลภายนอกเองนั้น ก็หาทำให้ตัวแทนหลุดพ้นความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวการไม่ ตัวแทนต้องรับผิดตาม มาตรา 812 อายุความฟ้องให้ตัวแทนรับผิด 10 ปี ตามมาตรา 193/30

23 คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 254/2522
จำเลยได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้จัดการธนาคารสาขาของโจทก์ ในการจ่ายเงินล่วงหน้าหรือให้ลูกค้าเบิกเงินเกินบัญชีนั้น จะต้องมีดอกเบี้ยและเรียกหลักประกัน เช่นการรับจำนำหรือรับจำนอง แต่จำเลยให้ ซ.และ ฬ. เบิกเงินเกินบัญชีไปโดยไม่ได้เรียกหลักประกันไว้ ครั้น ซ. ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จำเลยไม่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ โจทก์จึงหมดสิทธิเรียกร้องเอาจาก ซ. ส่วนฬ. ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง โจทก์ไม่สามารถติดตามให้ชำระหนี้ได้ ถ้าจำเลยเรียกหลักประกันไว้จากบุคคลทั้งสองนี้โจทก์จะไม่เสียหาย การที่โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้จากบุคคลทั้งสองนี้เห็นได้ชัดว่าเกิดขึ้นเพราะจำเลยไม่เรียกหลักประกันอันเป็นการกระทำนอกเหนือขอบอำนาจ และเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยต้องรับผิด

24 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 326/2515
จำเลยเป็นตัวแทนนำพลอยของโจทก์ไปขายผู้ซื้อชำระค่าพลอยให้มาเป็นเช็คลงวันสั่งจ่ายล่วงหน้า จำเลยก็นำเช็คทั้งหมดมามอบให้โจทก์ เช็คบางฉบับก่อนจะถึงกำหนดวันสั่งจ่าย ผู้ซื้อยังไม่มีเงินในบัญชีของธนาคาร ขอให้จำเลยไปติดต่อกับโจทก์ขอเปลี่ยนเช็คใหม่โดยขยายเวลาออกไปอีก โจทก์ก็ยอม เมื่อโจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินจากธนาคารไม่ได้ ได้ใช้ให้จำเลยไปดูพลอยที่ขายในร้านผู้ซื้อเพื่อจะเอาคืนมา จำเลยก็ไปดูให้ เมื่อพบว่าไม่มีสิ่งของในร้านผู้ซื้อเหลืออยู่ จำเลยก็กลับมาแจ้งให้โจทก์ทราบ ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเรื่องโจทก์จะต้องว่ากล่าวเอาแก่ผู้สั่งจ่ายเช็ค

25 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1585/2529
การที่ตัวการให้สัตยาบันต่อการกระทำนอกเหนือขอบอำนาจของตัวแทนต่อบุคคลภายนอกอันมีผลทำให้นิติกรรมซึ่งไม่ผูกพันตัวการกลับเป็นผูกพันตัวการโดยตรงและทำให้ตัวแทนหลุดพ้นความรับผิดที่มีต่อบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา823นั้นไม่ทำให้ตัวแทนหลุดพ้นจากความรับผิดต่อตัวการในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกิจการที่ตนกระทำนอกเหนือขอบอำนาจนั้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา812

26 หน้าที่ของตัวการต่อตัวแทน
หน้าที่จ่ายเงินทดรองแก่ตัวแทน หน้าที่ชดใช้เงินทดรอง หรือค่าใช้จ่ายที่ตัวแทนสำรองจ่ายไป หน้าที่จ่ายบำเหน็จ(ถ้าหากมี)

27 มาตรา 816 ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้นตัวแทนได้ออกเงินทดรองหรือออกเงินค่าใช้จ่ายไป ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการรวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินไปนั้นด้วยก็ได้ ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนต้องรับภาระเป็นหนี้ขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกให้ตัวการชำระหนี้แทนตนก็ได้ หรือถ้ายังไม่ถึงเวลากำหนดชำระหนี้ จะให้ตัวการให้ประกันอันสมควรก็ได้ ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น เป็นเหตุให้ตัวแทนต้องเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด มิใช่เป็นเพราะความผิดของตนเองไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากตัวการก็ได้

28 ข้อสังเกต ม.816 สิ่งที่ตัวแทนเรียกเอาจากตัวการได้ มี 5 ประการ คือ
- เงินทดรอง - ค่าใช้จ่าย - เรียกให้ตัวการชำระหนี้แทน - เรียกให้ตัวการให้ประกัน - สินไหมทดแทน

29 ข้อสังเกต ม.816 ตัวแทนไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากตัวการได้ กรณีที่ - ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวแทนเป็นผลจากการกระทำของตัวแทนเอง - เป็นที่เห็นได้ชัดว่ากิจการที่มอบให้ทำ เป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายและตัวแทนสมัครใจรับทำการแทนในกิจการนั้น - กิจการนั้นเกี่ยวกับการพนันขันต่อ - การที่ทำไปนั้นเป็นอันนอกเหนืออำนาจ และตัวการมิได้ให้สัตยาบัน 3. ตัวแทนอาจเรียกร้องตามมาตรา 816 ได้ แม้การตั้งตัวแทนไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ กรณีไม่อยู่ในบังคับ มาตรา 798 และเรียกในกำหนดอายุความทั่วไป คือ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

30 ความผูกพันและความรับผิดของตัวการ ต่อบุคคลภายนอก(มาตรา 820 – 823)
ความผูกพันในกิจการที่ตัวแทน(โดยชัดแจ้ง หรือปริยาย) ทำ ตาม ม.820 ไม่ว่าจะเป็นความผูกพันในผลแห่งการกระทำของตัวแทนที่เป็นนิติกรรม และผลที่เกิดจากละเมิด ก็ตาม ความผูกพันในกิจการที่ตัวแทนเชิดทำ ตามมาตรา 821 ความผูกพันในกิจการที่ตัวแทนกระทำไปเกินอำนาจ ตามมาตรา 822 ความผูกพันในกิจการที่ทำโดยตัวแทนโดยสัตยาบัน ตามมาตรา 823

31 คำพิพากษาที่ 715/2500 ตัวแทนของจำเลยมีอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับกิจการโรงแรมของจำเลย รวมทั้งออกเช็คสั่งจ่ายเงินออกจากบัญชีของโรงแรมด้วยเมื่อตัวแทนของจำเลยออกเช็คให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เกี่ยวกับกิจการโรงแรมของจำเลยแม้ในเช็คนั้นมิได้เขียนลงว่าออกแทนผู้ใด จำเลยก็ต้องรับผิด

32 ความผูกพันของตัวการ มาตรา 820 ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทน หรือตัวแทน หรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

33 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 106/2488
หญิงมีสามีขายทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสามี สัญญาเป็นโมฆียะเมื่อสามีบอกล้างนิติกรรมแล้วหญิงต้องคืนเงินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.138 ไม่ใช่คืนในฐานะลาภมิควรได้ ตัวแทนของหญิงมีสามีได้รับเงินไว้แทนหญิงเท่าไร เมื่อนิติกรรมถูกบอกล้างแล้วหญิงก็ต้องคืนเงินเต็มจำนวนที่ตัวแทนได้รับแก่ผู้จ่ายเงิน โดยไม่ต้องคำนึงว่าหญิงจะได้รับเงินจากตัวแทนมาเท่าไร หรือได้รับไว้หรือไม่

34 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 439/2510
กิจการของธนาคารมีการรับฝากเงินเป็นประการสำคัญ ดังนั้นผู้จัดการธนาคารกระทำการรับฝากเงิน ก็เป็นกิจการที่ธนาคารมอบหมายให้กระทำ ข้อที่ผู้จัดการสาขาไปรับฝากเงินถึงบ้านผู้ฝากและรับฝากในวันธนาคารหยุดการฝากเงินนอกสถานที่เป็นกิจการของธนาคารจำเลยจะอ้างว่าผู้จัดการสาขากระทำโดยปราศจากอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหาได้ไม่ ผู้จัดการสาขาธนาคารรับฝากเงินมาแล้ว ไม่เอาเข้าบัญชีธนาคารซึ่งเป็นเรื่องตัวแทนไม่ส่งทรัพย์สินที่ได้มาแก่ตัวการ ตัวการจะปฏิเสธความรับผิดว่าทำนอกเหนืออำนาจย่อมไม่ได้

35 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2323/2514
ผู้กู้ทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นรับเงินที่กู้จากผู้ให้กู้ถือว่าผู้รับมอบอำนาจเป็นตัวแทนของผู้กู้ ผู้กู้ต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำของตัวแทนของตนซึ่งกระทำไปภายในขอบอำนาจการที่ตัวแทนของผู้กู้ได้รับเงินจากผู้ให้กู้แล้ว แต่มิได้นำไปให้ผู้กู้หาทำให้สัญญากู้ไม่สมบูรณ์ไม่ ผู้ให้กู้ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกเงินกู้จากผู้กู้ได้

36 ความผูกพันในกิจการที่ตัวแทนเชิดทำ(มาตรา 821)
มาตรา 821 บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

37 อธิบาย มาตรา 821 ตัวแทนเชิด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท กล่าวคือ
(1) บุคคลใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตน (2) บุคคลใดรู้แล้ว ยอมให้ผู้อื่นเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตน การจะนำหลักตัวแทนเชิดมาใช้ ต้องเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกหลงเชื่อว่าเป็นกิจการของตัวการ ถ้าบุคคลภายนอกรู้แต่แรกแล้วว่ามิใช่กิจการของตัวการ จะนำเรื่องตัวแทนเชิดมาใช้มิได้ หากไม่มีพฤติการณ์ของตัวการในทางเชิดบุคคลอื่น หรือปล่อยให้ตัวแทนเชิดตัวเอง ก็ไม่เข้าตัวแทนเชิด

38 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1085/2506
การที่จะถือว่าเป็นตัวแทนเชิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 นั้น บุคคลภายนอกจะต้องรับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของตัวการ ถ้าไม่หลงเช่นนั้น กล่าวคือ เชื่อว่าเป็นกิจการของผู้มาติดต่อเอง ก็ไม่ใช่กรณีตาม มาตรา 821

39 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1091/2500
บุคคลภายนอกผู้ไม่มีหน้าที่ในห้างหุ้นส่วนจำกัดทำหนังสือปลอมในนามของห้างหุ้นส่วนนั้นสั่งซื้อของจากโจทก์ แล้วบุคคลนั้นนำหนังสือปลอมไปเอาของจากโจทก์มาเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสียดังนี้ บุคคลนั้นมิใช่ตัวแทนของห้างหุ้นส่วนและมิใช่ว่าห้างหุ้นส่วนเชิดเป็นตัวแทนห้างหุ้นส่วนจึงไม่ต้องรับผิด

40 อธิบาย มาตรา 821(ต่อ) แม้ตัวแทนเชิดจะกระทำการโดยไม่สุจริต ตัวการก็ปฎิเสธความรับผิดกับบุคคลภายนอกมิได้ ตัวการจะผูกพันในกิจการที่ตัวแทนเชิดทำไป ส่วนตัวแทนเชิดก็หลุดพ้นความรับผิดที่มีต่อบุคคลภายนอก และไม่อยู่ในบังคับของ มาตรา 798 รวมทั้งไม่ต้องให้สัตยาบันด้วย ตัวแทนเชิดไปก่อเหตุละเมิดบุคคลภายนอก ตัวการต้องร่วมรับผิดด้วย มาตรา 821 เป็นบทบัญญัติที่กฎหมายปิดปากตัวการ มิให้ปฎิเสธความรับที่มีต่อบุคคลภายนอก แต่มาตรา 821 มิได้บัญญัติความรับผิดบุคคลภายนอกต่อตัวการ ดังนั้น ตัวการจะฟ้องให้บุคคลภายนอกรับผิดมิได้

41 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1522/2535
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าท่าเทียบเรือกับโจทก์ มีเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 1 ต้องดำเนินกิจการต่อเนื่องและไม่ให้ผู้อื่นเช่าช่วง จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงเข้าดำเนินกิจการแทน และบรรยายฟ้องในตอนท้ายว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าในนามของแพปลาสินธ์ไพโรจน์ ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินกิจการท่าเทียบเรือดังกล่าวเพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1ชำระค่าเช่าที่ค้างชำระ ตามคำฟ้องจึงสรุปได้ว่าโจทก์ทราบอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนทำสัญญากับโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินกิจการแต่ผู้เดียว จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว

42 คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 2452/2531
ผู้มีชื่อนำรถแท็กซี่มาจดทะเบียนเป็นชื่อของบริษัทจำเลยที่2 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ประกอบการเดินรถยนต์บรรทุกคนโดยสาร แล้วจำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถคันดังกล่าวออกวิ่งรับคนโดยสารโดยมีตราบริษัทจำเลยที่ 2 ติดอยู่ข้างรถ และจำเลยที่2 ได้รับผลประโยชน์จากการนี้ด้วย ดังนี้ เท่ากับจำเลยที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ผู้ได้รับความเสียหายจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1.

43 คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 5984/2545
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดของตัวการที่มีต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น ไม่มีข้อความใดที่กำหนดให้บุคคลภายนอกต้องรับผิดหรือมีความผูกพันต่อตัวการเลย บุคคลภายนอกจึงมีอำนาจฟ้องให้ตัวการรับผิดได้แต่บุคคลภายนอกไม่อาจฟ้องตัวแทนให้รับผิดได้ และในทางตรงข้ามตัวการก็จะฟ้องบุคคลภายนอกให้รับผิดไม่ได้เช่นกัน

44 ความผูกพันในกิจการที่ตัวแทนที่กระทำเกินอำนาจ ม.822
มาตรา 822 ถ้าตัวแทนทำการอันใดเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนไซร้ ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตราก่อนนี้เป็นบทบังคับแล้วแต่กรณี มาตรา 823 ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

45 อธิบาย ตัวการทำการเกินขอบอำนาจ หมายความว่า ต้องเป็นตัวแทนมีอำนาจกระทำการแทนตัวการ แต่ได้กระทำการไปเกินกว่าอำนาจ ของตน ตัวการจะต้องผูกพันในสิ่งที่ตัวแทนกระทำเกินอำนาจก็ต่อเมื่อ ตัวการมีพฤติการณ์ทำให้บุคคลภายนอกมีเหตุอันควรเชื่อว่า ตัวแทนนั้นมีอำนาจกระทำการในเรื่องนั้นๆแทนตัวการ ในส่วนที่ตัวแทนทำในขอบอำนาจ ตัวการผูกพันตาม ม.820 ในส่วนที่ตัวแทนทำเกินอำนาจ ตัวการจะผูกพัน ตาม มาตรา 822 ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์ของตัวการ ทำให้เชื่อได้ว่าตัวแทนมีอำนาจกระทำ

46 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 491/2492
โจทก์ได้เซ็นชื่อลงในใบมอบฉันทะโดยไม่ได้กรอกข้อความอะไรเลย มอบให้จำเลยที่ 2 ไว้ เพื่อว่าเมื่อจำเลยที่ 2 ชำระหนี้เงินให้โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 จะได้โอนที่ดินเป็นของจำเลยที่ 2 ตามที่ตกลงกันไว้ แล้วจำเลยที่ 1,2 และ 4 คบคิดกันกรอกข้อความลงในใบมอบฉันทะนั้นว่า โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 ไปขายที่ดินนี้แก่จำเลยที่ 5,6 ซึ่งผิดจากที่ได้รับมอบหมายไว้เป็นเรื่องยักยอกตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 315 ถ้าจำเลยที่ 5,6 ได้รับซื้อโดยสุจริต รูปคดีเข้าลักษณะความรับผิดของตัวการต่อบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822 โจทก์ซึ่งเป็นตัวการต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 5,6 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก

47 คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 1248/2493
ตัวการมอบพวงคอเพ็ชรให้แก่ตัวแทนเพื่อไปขายแก่บุคคลภายนอกแต่ตัวแทนกลับนำพวงคอเพ็ชรนั้นไปเป็นหลักประกันแทนแหวนเพ็ชร ที่ตัวแทนจำนำไว้กับบุคคลภายนอก โดยบอกกับบุคคลภายนอกว่าตัวการให้นำพวงคอเพ็ชรมาเป็นหลักประกันแทนแหวนเพ็ชรและขอรับแหวนเพ็ชรกลับไป ดังนี้ ถือว่าทางปฏิบัติของตัวการที่เคยใช้ตัวแทนให้จำนำทรัพย์แก่บุคคลภายนอกมาแล้วนั้น ทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่า การจำนำโดยการแลกเปลี่ยนกับทรัพย์ที่จำนำไว้นั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนตามที่ตัวแทนบอกยืนยันตัวการ จึงต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการที่ตัวแทนได้ทำไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820,822

48 อธิบาย 5. กรณีที่ตัวการเข้าผูกพันกับบุคคลภายนอกแล้ว มิได้หมายความว่าตัวแทนจะหลุดพ้นความรับผิดในความเสียหายที่เกิดแก่ตัวการ ตาม มาตรา 812 กรณีต่างจากตัวแทนเชิด ตามมาตรา 821 ที่ตัวแทนเชิดไม่ต้องรับผิดต่อตัวการ ความรับผิดของตัวการ ตาม มาตรา 822 จะเกิดมีขึ้นต้องเป็นกรณีบุคคลภายนอกเข้าใจว่า ตัวแทนในขอบอำนาจ ถ้าบุคคลภายนอกรู้แต่แรกแล้วว่า ตัวแทนไม่มีอำนาจ ตัวการไม่ต้องรับผิด ตัวแทนทำเกินอำนาจนั้น ส่วนที่เกินและผูกพันตัวการนั้น ไม่อยู่ในบังคับ ม.798 ม.822 ต่างจากกรณีตัวแทนเชิดตรงที่ ตัวแทนเชิดไม่มีความสัมพันธ์ในลักษณะเป็นตัวการ-ตัวแทนกันมาก่อน

49 ความผูกพันในกิจการโดยตัวการให้สัตยาบัน ม.823
สัตยาบัน คือ การที่ตัวการรับรองการกระทำของตัวแทนที่ได้กระทำไปแทนตัวการ โดยที่ตัวแทนไม่มีอำนาจกระทำเช่นนั้นได้ การสัตยาบัน อาจแสดงออกด้วยการแสดงเจตนาโดยตรงต่อบุคคลภายนอก หรือเข้ารับเอา ถือเอาประโยชน์ตามกิจการที่ตัวการได้กระทำไป การที่ตัวแทนทำไปโดยไม่มีอำนาจ หรือเกินอำนาจ และตัวการมิได้แสดงออกให้บุคคลภายนอกเข้าใจว่า กิจการที่ตัวแทนกระทำนั้น เป็นการกระทำโดยมีอำนาจ ดังนั้นสิ่งที่ตัวแทนทำไปโดยเกินกว่า หรือโดยปราศจากอำนาจจึงไม่ผูกพันตัวการ แต่ตัวแทนนั้นจะต้องรับผิดผูกพันต่อบุคคลภายนอกเอง

50 กิจการที่จะสัตยาบันได้ต้องเป็นกิจการที่มิได้ตกเป็นโมฆะ
ปกติแล้วในเรื่องของนิติกรรม ที่จะมีกรณีการให้สัตยาบันนั้น ต้องเป็นนิติกรรมที่เป็น โมฆียะ ซึ่งบุคคลที่กฎหมายกำหนดไว้ ใน มาตรา 175 จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะสัตยาบัน หรือ บอกล้างการนั้นๆดี แต่ในเรื่องของตัวแทนโดยสัตยาบันนั้น การที่ตัวการไม่ให้สัตยาบัน ผลก็คือ กิจการที่ตัวแทนกระทำโดยปราศจากอำนาจ หรือเกินอำนาจไปนั้น จะไม่ผูกพันตัวการเท่านั้น แต่จะผูกพันตัวแทนเสียเอง ไม่มีประเด็นในเรื่องผลของนิติกรรมว่าเป็นโมฆียะหรือไม่ การให้สัตยาบันในการฟ้องคดีนั้น ถ้าเป็นการมอบอำนาจที่บกพร่องไปบ้างยังสัตยาบันได้ แต่ถ้าขณะฟ้องคดีไม่มีอำนาจ หรือยังไม่ได้มีการมอบอำนาจกันเลย เช่นนี้สัตยาบันได้

51 พฤติการณ์ถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน
(1) ได้ปฏิบัติการชำระหนี้แล้วทั้งหมดหรือแต่บางส่วน (2) ได้มีการเรียกให้ชำระหนี้นั้นแล้ว (3) ได้มีการแปลงหนี้ใหม่ (4) ได้มีการให้ประกันเพื่อหนี้นั้น (5) ได้มีการโอนสิทธิหรือความรับผิดทั้งหมดหรือแต่บางส่วน (6) ได้มีการกระทำอย่างอื่นอันแสดงได้ว่าเป็นการให้สัตยาบัน

52 คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 3953/2548
การที่ จ. ลงนามในสัญญาจ้างแรงงานในฐานะรองกรรมการผู้จัดการของบริษัทลูกหนี้ แม้จะไม่มีอำนาจกระทำแทนบริษัท แต่เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้ได้ยอมรับเอาผลงานที่เจ้าหนี้ทำให้และลูกหนี้ได้จ่ายค่าจ้างนับแต่เจ้าหนี้เริ่มทำงานตลอดมาจนเลิกจ้าง เป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน โดยไม่ได้โต้แย้งถือว่าลูกหนี้ตัวการได้ให้สัตยาบันยอมรับโดยปริยายว่าเจ้าหนี้เป็นลูกจ้างของลูกหนี้แล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 ลูกหนี้จะต้องผูกพันและรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงาน

53 คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 312/2534
แม้การกระทำของกรรมการเพียงคนเดียวของจำเลยจะขัดกับข้อบังคับของจำเลยซึ่งระบุไว้ว่าต้องมีกรรมการสองคนลงชื่อร่วมกัน อันถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำของผู้แทนนิติบุคคลก็ตาม แต่การสั่งซื้อสินค้าของกรรมการดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำของตัวแทนของจำเลยที่กระทำโดยปราศจากอำนาจ การที่จำเลยรับสินค้าไว้โดยมิได้อิดเอื้อนหรือส่งสินค้าคืนโจทก์ ถือว่าจำเลยให้ให้สัตยาบันแก่การสั่งซื้อสินค้านั้น จำเลยจึงต้องผูกพันชำระราคาสินค้าแก่โจทก์

54 คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 9085/2539
จำเลยที่2 ลงชื่อในสัญญาเพียงผู้เดียว ระบุว่าเป็นประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 โดยมิได้ประทับตราบริษัท อันไม่ถูกต้องตามระเบียบของบริษัทที่ต้องมีกรรมการ 2 คนลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัท แต่เมื่อจำเลยที่1 แถลงรับว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากับโจทก์จริง เท่ากับเป็นการสัตยาบันสัญญาที่กระทำกับโจทก์ ดังนั้นจำเลยที่2 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว

55 คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 4108/2540
ตามปพพ.มาตรา 572 วรรค2 ที่กำหนดให้สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือมิฉะนั้นเป็นโมฆะ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินผู้ให้เช่าซื้อมี ก. และ ป.ลงลายชื่อในสัญญาเช่าซื้อ แต่เฉพาะ ป.เท่านั้นที่เป็นกรรมการของบริษัทโจทก์ จึงไม่มีผลสมบูรณ์เป็นลายมือชื่อของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ แม้ต่อมาโจทก์จะยอมรับเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ลงชื่อเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 อันจะทำให้สัญญาเช่าซื้อซึ่งเป็นโมฆะกลับเป็นสัญญาเช่าซื้อที่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายได้

56 คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 5256/2550
แม้การประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาจะไม่อยู่ในวัตถุประสงค์ข้อ 35 ที่ว่าจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับค้ำประกันหนี้ ความรับผิด หรือการปฏิบัติตามสัญญา ดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่าได้ทำสัญญาประกัน ซ. ตามสัญญาประกันอันเป็นการให้สัตยาบันการทำสัญญาประกันนั้นแล้ว สัญญาประกันดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตาม ป.พ.พ. มาตรา 823

57 ความผูกพันของตัวการไม่เปิดเผยชื่อ ม.806
มาตรา 806 ตัวการซึ่งมิได้เผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่าตัวการ ผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทนและเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่

58 อธิบาย ม.806 ตัวแทนไม่เปิดเผยชื่อ มี 2 ลักษณะ
(1) ตัวแทนกระทำการไปโดยไม่ได้เปิดเผยว่าเป็นการทำแทนผู้อื่น (2) ตัวแทนเปิดเผยว่าเป็นการทำการแทนผู้อื่น แต่ไม่เปิดเผยชื่อ ตราบใดตัวแทนยังไม่เปิดเผยชื่อตัวการ บุคคลภายนอกก็ยังคงเข้าใจว่าตนเองทำนิติกรรมอยู่กับตัวแทนผู้นั้น แต่เมื่อตัวการเปิดเผยตัวและเข้ารับเอาสัญญาใดๆที่ตัวแทนทำไปแทนตัวการแล้ว ตัวการก็ผูกพันต่อบุคคลภายนอกตาม มาตรา 820 ตัวแทนก็หลุดพ้น กรณีตาม ม.806 นั้น ไม่อยู่ในบังคับ ม.798 ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐาน หรือทำเป็นหนังสือในการตั้งตัวแทน แต่หากเป็นเรื่องที่ตัวการได้เปิดเผยตัวมาแต่ต้นแล้ว เช่นนี้ต้องบังคับด้วย ม.798

59 อธิบาย ม.806 ตัวการจะทำให้เสื่อมเสียสิทธิของบุคคลภายนอกที่มีต่อตัวแทน อันขวนขวายได้มาก่อนรู้ว่าเป็นตัวแทนไม่ได้ การที่ตัวการมิได้เปิดเผยตนเอง แต่เป็นบุคคลภายนอกเองที่เป็นฝ่ายทราบ เช่นนี้บุคคลภายนอกก็ฟ้องบังคับตัวการได้ ตาม มาตรา 820 เมื่อตัวการเปิดเผยตนแล้ว บุคคลภายนอกจะอ้างว่าตนเข้าทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในตัวคู่สัญญาอันทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะ ได้หรือไม่ ในเรื่องนี้เห็นว่า น่าจะไม่ได้เนื่องจาก มาตรา 806 เป็นบทเฉพาะแล้วจึงไม่นำเรื่องสำคัญผิดในนิติกรรมมาใช้อีก

60 คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 5665/2533
การที่โจทก์ยอมให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ใน น.ส. 3 แทนตน เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าว โจทก์จึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนและขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806.

61 คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 462/2493
การที่จำเลยทำสัญญาขายแร่ในนามของตนเอง ซึ่งสัญญามิได้ระบุว่าทำแทนใคร แม้จะมีตัวการ แต่ตัวการก็ไม่เคยแสดงต่อผู้ซื้อมาก่อนว่าจำเลยทำแทน ดังนี้เมื่อจำเลยทำผิดสัญญาไม่สามารถส่งแร่ให้โจทก์ จนโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย จำเลยจะต่อสู้ว่า ตนเป็นเพียงตัวแทน ไม่ต้องรับผิดตามสัญญานั้นได้ไม่ ทั้งตัวการจะร้องสอดเพื่อแสดงตนว่าเป็นตัวการ ก็หาอาจทำให้เสื่อมเสียสิทธิของโจทก์ในอันที่จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ไม่ จำเลยต้องรับผิดตามสัญญา

62 คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 1792/2530
คำร้องขัดทรัพย์อ้างเพียงว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินที่โจทก์นำยึดโดยใส่ชื่อจำเลยที่ 3 ไว้ในโฉนดแทนเท่านั้น มิได้กล่าวอ้างว่าโจทก์รับจำนองที่ดินโดยไม่สุจริต การที่ผู้ร้องขัดทรัพย์ใส่ชื่อจำเลยที่ 3 ในโฉนดแทนตนเป็นเรื่องที่ผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยที่ 3 ผู้เป็นตัวแทนทำการออกนอกหน้าเป็นตัวการนำที่ดินพิพาทไปจำนองกับโจทก์ ผู้ร้องจึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียแก่สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลยที่ 3 ผู้เป็นตัวแทนและขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของผู้ร้องได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806.

63 ความรับผิดตัวแทนต่อบุคคลภายนอก
หลัก : ตัวแทนไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ข้อยกเว้น : 1) ความรับผิดละเมิด 2) ตัวแทนทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือเกินอำนาจ แล้วตัวการมิได้ให้สัตยาบัน 3) ตัวแทนทำการโดยไม่เปิดเผยว่าทำการแทนผู้อื่น และตัวการไม่ได้เปิดเผยตน เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกทราบแต่แรกว่าเป็นการทำแทนตัวการ 4) ตัวการอยู่และมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ 5) ตัวแทนลงลายมือชื่อในตั๋วเงิน โดยไม่ระบุว่าทำการแทน


ดาวน์โหลด ppt หน้าที่ของตัวแทน.

งานนำเสนอที่คล้ายกัน


Ads by Google