คู่มือการเขียนวิจัย R2R ฉบับย่อสำหรับนักวิจัยหน้าใหม่ นางสาวโสภาภรณ์ พลจางวาง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต. บ้านทุ่งโพธิ์ อ.วานรนิวาส จ. สกลนคร
คุณลักษณะของ R2R มี 4 ด้านคือ 1. โจทย์วิจัย คำถามการวิจัยต้องมาจากปัญหาหน้างาน มาจากงานประจำที่ทำอยู่ เป็นการแก้ปัญหาหรือต้องการพัฒนางานประจำให้มีคุณภาพสูงขึ้น 2. ผู้วิจัย ต้องเป็น “ผู้ปฏิบัติงานประจำ” นั้นเอง และต้องทำหน้าที่หลักในการวิจัยด้วย 3. ผลลัพธ์ของงานวิจัย ต้องวัดผลที่ได้จากผู้รับบริการ (ผู้ป่วย) หรือการบริการที่ส่งผลต่อผู้ป่วยโดยตรง ตัวอย่างเช่น ด้านงานบริการจะช่วยลดขั้นตอนการทำงาน การบริการดีขึ้น แก้ปัญหาภาระงานที่ทำอยู่ได้ ส่วนด้านดูแลผู้ป่วย ผลการรักษาจะดีขึ้น ภาวะแทรกซ้อนหรือระยะเวลาในการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลลดลง เป็นต้น 4. การนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ ผลงานวิจัยต้องวนกลับไปก่อเกิดการเปลี่ยนแปลง / ปรับปรุงต่อการให้บริการผู้ป่วยโดยตรง ทำให้การบริการดีขึ้นในบริบทของแต่ละองค์กร
1. ชื่อเรื่อง การเขียนชื่อเรื่องเป็นเหมือนหน้าตาของงานวิจัย R2R ชิ้นนั้นๆ ควรเป็นคำที่เป็น Key word ที่สำคัญของงานวิจัย การตั้งชื่อเรื่องควรเป็นคำสั้นๆ (short) ได้ใจความ (Informative) ดึงดูด (Attractive) และถูกต้องตามจริง (Factually Correct) ตัวอย่าง “สาวเสียงใส ใส่ใจผู้รับบริการ”
2. ที่มา ในย่อหน้าที่ 1 ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในงานประจำของเรา อ้างถึงข้อมูลทางสถิติเป็นตัวเลข ความถี่ ร้อยละ / ผลกระทบ ในส่วนย่อหน้าที่ 2 ทบทวนวรรณกรรม ว่ามีผลงานวิจัยเรื่องไหนแล้วที่ทำเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่นำเสนอ Gap ของงานวิจัยเหล่านั้นว่ายังมีช่องว่างอยู่ ในส่วนที่ 3 แนวคิดหรือทฤษฎีที่เราจะนำมาใช้ในการศึกษาครั้งนี้ (อ้างอิงหลักฐานเชิงประจักษ์) ในส่วนสุดท้ายเป็นการขมวดความสำคัญ “เพื่อตอบบอกให้รู้ว่าเรื่องที่ท่านทำวิจัยสำคัญ”
3. คำถามการวิจัย ปัญหาอะไร อยากได้/อยากรู้อะไร เป็นที่มาของรูปแบบการวิจัย ขนาดประชากร การวัดและวิเคราะห์ข้อมูล หมายเหตุ ประเด็นนี้เขียนไว้หรือไม่ก็ได้ ถ้าเป็นงานวิจัยในกลุ่ม action research/PAR ต้องเขียนไว้เพื่อสามารถตอบโจทย์ในผลการศึกษา
4. วัตถุประสงค์ ต้องการตอบคำถามอะไร หรือ มีสมมุติฐานอะไร ควรมีประมาณ 1-3 ข้อ ตัวอย่าง เพื่อศึกษาผลของการใช้โปรแกรมเรียกชื่อ สาวเสียงใส ใส่ใจผู้รับบริการ
5. สมมติฐานการวิจัย ในกรณีที่เป็นการวิจัยแบบทดลองหรือกึ่งทดลองที่ต้องการทดสอบอะไรบางอย่าง ให้นำเสนอสมมติฐานการวิจัยที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้นโดยอ้างอิงจากการทบทวนวรรณกรรมเป็นหลัก ส่วนงานวิจัยแบบปฏิบัติการ (action research/PAR/AIC… ) ไม่ต้องเขียนสมมติฐานการวิจัย
6. ระเบียบวิธีวิจัย 6.1 รูปแบบการวิจัย 6.2 พื้นที่ที่ทำการศึกษา 6.3 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง 6.4 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา 6.5 ขั้นตอนการศึกษา 6.6 การวิเคราะห์ข้อมูล
ตัวอย่างการเขียนระเบียบวิธีวิจัย เป็นการพัฒนานวัตกรรม มีขั้นตอนคือ ขั้นที่ 1 รวบรวม วิเคราะห์ปัญหาในการเรียกชื่อผู้รับบริการ ขั้นที่ 2 ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เรียกชื่อ ขั้นที่ 3 สร้างโปรแกรมเรียกชื่อ และจัดหาอุปกรณ์ได้แก่ คอมพิวเตอร์ และเครื่องอ่านบาร์โค้ดทำการติดตั้งที่ห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอก ขั้นที่4 ทดลองใช้โปรแกรม ตรวจสอบผลการใช้งานและปรับปรุงโปรแกรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นขั้นที่ 5 ประเมินผลการใช้โปรแกรม ทำการศึกษาในจุดบริการจ่ายยาผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลบ้านม่วง ในระหว่างวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558 ถึง 31 มีนาคม พ.ศ. 2559 วิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนาแสดงเป็นความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
7. ผลการศึกษา นำเสนอตามวัตถุประสงค์ ตัวอย่าง จากการพัฒนาโปรแกรมเรียกชื่อ พบว่า อัตราการเรียกชื่อซ้ำหลังการดำเนินการครั้งที่ 1 และหลังการดำเนินการครั้งที่ 2 มีความถี่ลดลง จากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 5.7 พบข้อจำกัดหลังการดำเนินการครั้งที่ 1 คือ โปรแกรมเรียกชื่อออกเสียงล่าช้า ร้อยละ 18.5 โปรแกรมเรียกชื่อขัดข้อง ร้อยละ 6.6 โปรแกรมเรียกชื่อออกเสียงผิด ไม่ตรงกับชื่อ สกุลของผู้รับบริการ ร้อยละ 4.2 การดำเนินการครั้งที่ 2 จึงได้ปรับปรุงโปรแกรมใหม่ และเปลี่ยนอุปกรณ์ จาก Mini computer เป็นเครื่อง PC ทำให้พบปัญหาโปรแกรมเรียกชื่อออกเสียงล่าช้า โปรแกรมเรียกชื่อขัดข้อง โปรแกรมเรียกชื่อออกเสียงผิด ลดน้อยลง เป็นร้อยละ 2 ร้อยละ 1.5 และ ร้อยละ 1.2 ตามลำดับ
8. การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ ประโยชน์ของงานวิจัย R2R ที่สามารถเอามาใช้พัฒนาในงานประจำ ที่มีผลต่อผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ องค์กร หรือชุมชน ตัวอย่าง ลดภาระงานและความเหนื่อยล้าของเภสัชกรในการเรียกชื่อผู้รับบริการ ส่งผลให้เภสัชกรเกิดสมาธิและมีช่วงเวลาในการตรวจสอบยาได้มากขึ้น อำนวยความสะดวกให้กับผู้รับบริการโดยมีทั้งระบบเรียกชื่อ และจอภาพแสดงรายชื่อในกรณีที่ผู้รับบริการมีปัญหาทางการได้ยินหรือฟังไม่ทันขณะนั้น
9. แผนการที่จะนำผลการวิจัยไปใช้ในหน่วยงาน การเอางานวิจัย R2R ไปขยายผลต่อในงานประจำที่มีปัญหาเดียวกัน ในองค์กร หรือพื้นที่อื่นๆ ตัวอย่าง นำไปใช้ในหน่วยงานห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอก และสามารถขยายผลนำไปใช้ในหน่วยงานที่มีผู้รับบริการต่อวันจำนวนมาก เช่น ห้องทันตกรรม และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ได้
10. บทเรียนที่ได้รับ และปัจจัยแห่งความสำเร็จ สิ่งที่ทำให้งานวิจัย R2R ชิ้นนี้สำเร็จได้มีอะไรบ้าง ตัวอย่าง ผู้ที่พัฒนาโปรแกรมต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถปรับปรุงแก้ไขจุดบกพร่องของโปรแกรมให้ดียิ่งขึ้นได้
เอกสารอ้างอิง เป็นการอ้างอิงถึงเอกสารที่เราทบทวนวรรณกรรม ให้ลงเฉพาะเอกสารที่เราอ้างถึงในงานชิ้นนี้ ตัวอย่าง ลัฆวี ปิยะบัณฑิตกุล. (2552). การประเมิน การตอบสนอง และการประเมินผลอย่างรวดเร็ว: ทางเลือกใหม่สำหรับพยาบาลชุมชน. วรสารสมาคมพยาบาลฯ สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, 27(4), 5-11. โสภาภรณ์ พลจางวางและ รศ.ดร.พนิษฐา พนิชาชีวะกุล. การป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2ในกลุ่มผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวานโดยชุมชนมีส่วนร่วม. วารสารสมาคมพยาบาลฯ สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2553; 28(3): 33-41