คำแนะนำเรื่อง โรค มือ เท้า ปาก สำหรับผู้ปกครอง
โรคมือเท้าปากเป็นกลุ่มอาการหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสลำไส้ หรือ เอนเทอโรไวรัสหลายชนิด (Enterovirus) โรคนี้พบบ่อยในทารกและเด็กเล็กโดยกลุ่มอายุที่พบส่วนใหญ่ คือ เด็กเล็กช่วงอายุต่ำกว่า 2- 5 ปี โดยทั่วไปโรคนี้มีอาการไม่รุนแรง ปัจจัยหลักที่โน้มนำให้เกิดการระบาดมาจากความแออัดระบบการถ่ายเทอากาศไม่ดี สุขอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขวิทยาส่วนบุคคลบกพร่อง ส่วนใหญ่มักเกิดตามสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล เป็นต้น โดยจะมีอาการ ไข้ ตุ่ม หรือแผลแดงอักเสบบริเวณลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม ฝ่ามือ นิ้วมือและฝ่าเท้า มักเกิดขึ้นบ่อยในช่วงที่มีอากาศเย็นและชื้น ในเขตหนาวพบมากในช่วงฤดูร้อน และต้นฤดูใบไม้ร่วง
การติดต่อ โรคนี้มีการติดต่อทางการสัมผัสกับเชื้อที่ปนเปื้อนออกมากับอุจจาระและสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วยเช่น น้ำมูก น้ำลาย ตุ่มน้ำ เป็นต้น โดยการติดต่อได้ทางปาก สุขอนามัยที่ไม่สะอาด และการอยู่ร่วมกันอย่างแออัด การรักษา โรคนี้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายได้เอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะป่วยนานประมาณ 7- 10 วัน เนื่องจากยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ จึงใช้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น การใช้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาทาแก้ปวดในรายที่มีแผลที่ลิ้นและกระพุ้งแก้มผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูเด็กควรเช็ดตัวผู้ป่วยเพื่อลดไข้เป็นระยะ
และให้รับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำ น้ำผลไม้และนอนพักผ่อนมากๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อนอาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดนม เพื่อลดการปวดแผลในปาก ที่สำคัญคือการป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิต ตามปกติโรคนี้มักไม่รุนแรง และไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัสบางชนิด เช่นเอนเทอโรไวรัส 71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำอาเจียนบ่อย หอบแขนขาอ่อนแรง ชัก ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดอาการแทรกซ้อนจากภาวะสมองอักเสบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอดซึ่งจะรุนแรงจนเสียชีวิตได้
คำแนะนำในการป้องกันควบคุมโรค มือ เท้า ปากสำหรับผู้ปกครอง 1. ไม่ควรนำเด็กเล็กไปในที่ชุมชนสาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัดและ สระว่ายน้ำ ควรให้เด็กอยู่ในที่ที่ มีการระบายอากาศที่ดี 2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และระมัดระวังการไอจามรดกัน ให้ใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก 3. มือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการเตรียมอาหารหรือก่อนรับประทาน อาหาร และภายหลังการขับถ่าย
4. ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำร่วมกัน เช่น จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ หรือหลอดดูดร่วมกัน และใช้ช้อนกลางในการตัก อาหาร 5. หากมีเด็กป่วยรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว และ ควรแยกเด็กออกจากเด็กอื่นๆเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังเด็ก อื่นและหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์หรือจนกว่าจะ หายเป็นปกติ แต่หากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ เป็นต้น ต้องรีบพาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ทันที ด้วยความปรารถนาดีจาก ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา