งานนำเสนอกำลังจะดาวน์โหลด โปรดรอ

งานนำเสนอกำลังจะดาวน์โหลด โปรดรอ

พระสงฆ์ พุทธสาวก พุทธสาวิกา

งานนำเสนอที่คล้ายกัน


งานนำเสนอเรื่อง: "พระสงฆ์ พุทธสาวก พุทธสาวิกา"— ใบสำเนางานนำเสนอ:

1 พระสงฆ์ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
พระอุรุเวลกัสสปะ พระอุรุเวลกัสสปะ มีพี่น้อง ๒ คน คือ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ มีสาวกรวมทั้งสิ้น ๑,๐๐๐ คน พระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นประโยชน์ และทรงใช้วิธีปราบชฎิล ๓ พี่น้อง คือ การทำให้อุรุเวลกัสสปะซึ่งเป็นพี่ชายคนโตยอมรับนับถือก่อน โดยการขอเข้าพักแรมด้วย ซึ่งอุรุเวลกัสสปะก็ไม่ยินดี เพราะเห็นพระพุทธเจ้าเป็นนักบวชต่างลัทธิ แต่อยากจะรู้ว่าพระพุทธเจ้ามีอานุภาพอะไรบ้าง จึงให้เข้าพักในโรงไฟ ซึ่งมีพญานาคที่ดุร้ายอาศัยอยู่ แต่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงได้รับอันตรายใด ๆ พระองค์ทรงกำจัดฤทธิ์ของพญานาคได้โดยบันดาลให้ขดกายในบาตร

2 เมื่ออุรุเวลกัสสปะได้เห็นพระพุทธเจ้าทรงมีอานุภาพมาก จึงขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จพักในอาศรมของตน ซึ่งในแต่ละคืนพระพุทธเจ้าจะทรงแสดงธรรมโปรดพระอินทร์ โดยอุรุเวลกัสสปะทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ปรากฏอีกหลายเรื่อง เช่น การล่วงรู้ความในใจของอุรุเวลกัสสปะ การเปล่งวาจาศักดิ์สิทธิ์ตอนที่ชฎิลทั้งหลายจะผ่าฟืนก่อไฟ แต่ก็ผ่าไม่ได้จะก่อไฟก็ไม่ติด เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านจงผ่าฟืนตามปรารถนา อนุญาตให้แก่เพลิงได้ ไฟก็ติดพร้อมกันทั้ง ๕๐๐ กอง หรือตอนที่ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมที่อยู่ของชฎิล แต่บริเวณที่พระพุทธเจ้าเดินจงกรมอยู่น้ำกลับไม่ท่วม

3 ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงแสดงปาฏิหาริย์ทรมานอุรุเวลกัสสปะอย่างไร ก็ยังดื้อรั้นกระด้างไม่ยอมรับ พระพุทธเจ้าทรงเมตตาตรัสสอนจนอุรุเวลกัสสปะได้คิดรู้สึกตัว ละอายใจจึงยอมละความถือดีและขอบวช พระพุทธเจ้าก็อนุญาตให้บวช แต่ก่อนบวชพระพุทธเจ้าได้ให้อุรุเวลกัสสปะชี้แจงให้บริวารทั้ง ๕๐๐ คน ทราบก่อน ซึ่งบริวารทั้ง ๕๐๐ คน รับทราบและพร้อมใจกับบวชตาม เมื่อเรื่องราวดังกล่าวทราบถึงนทีกัสสปะซึ่งมีบริวารทั้งหมด ๓๐๐ คน และคยากัสสปะซึ่งมีบริวาร ๒๐๐ คน ทั้งหมดต่างก็พากันเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้า จึงพร้อมด้วยบริวารทั้งหมดขอบวชเช่นกัน

4 หน้าที่ชาวพุทธ พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการสวดมนต์มาตั้งแต่เกิด แต่มักจะสวดตาม ๆ กันไป โดยมากไม่รู้คำแปลและความหมายของบทสวดนั้น ๆ ดังนั้นเราควรรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการสวดมนต์ เพื่อเพิ่มพูนสติปัญญาให้แก่ตนเอง การสวดมนต์คืออะไร

5 การสวดมนต์ คือ การสวดพรรณนาพระคุณของพระรัตนตรัยว่าด้วยพุทธมนต์ต่าง ๆ
ที่มาของการสวดมนต์นั้นมีเหตุมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าถึงเหตุแห่งความหลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า บุคคลจะหลุดพ้นจากกิเลสได้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ ๑) การฟังธรรม คือ การฟังเทศน์ ฟังปาฐกถา ฯลฯ ๒) การแสดงธรรม คือ การสอนธรรมแก่คนอื่น ๓) การสาธยายธรรม คือ การท่องบ่นสวดมนต์ ๔) ธรรมวิจัย คือ การใคร่ครวญ พินิจพิจารณาธรรม ๕) การเจริญสมาธิภาวนา คือ การทำจิตให้สงบ

6 อานิสงส์ของการสวดมนต์ (ประโยชน์ของการสวดมนต์)
๑. ตัดความเห็นแก่ตัว เพราะขณะสวดมนต์จิตจะจดจ่ออยู่กับการสวดมนต์ ไม่ได้คิดถึงตัวเอง ดังนั้น กิเลส โลภ โกรธ หลง และความเห็นแก่ตัว จะไม่เข้ามารบกวนจิต ๒. ได้ปัญญา เมื่อสวดมนต์และแปลความหมายของบทสวดมนต์นั้นทำให้เราได้ทราบความหมาย ดังนั้นจึงเกิดปัญญา ๓. จิตเป็นสมาธิ ผู้สวดจะต้องสำรวมใจให้แน่วแน่ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิความสงบเยือกเย็นในจิตจะเกิดขึ้น ๔. ขจัดความเกียจคร้าน ขณะที่สวดมนต์ จิตใจของผู้สวดจะสดใส เบิกบาน ความเกียจคร้านเชื่องซึมจะหายไป ๕. เป็นการปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า ด้วยความระลึกถึงพระคุณความดีของพระพุทธองค์ ด้วยศีล สมาธิ ปัญญาอย่างแท้จริง

7 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัด
คำว่า “วัด” หมายถึง ที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ สถานที่นั้น ๆ อาจจะเป็นโรงเรียนหรืออาคาร ซึ่งมีรูปลักษณะอย่างไรก็ตามเมื่อเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ ก็เรียกว่า วัด มีคำที่มีความหมายถึงวัด ๓ คำ คือ อาราม วิหาร อาวาส และถือว่า “วัด” เป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา ประวัติความเป็นมาของวัด ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี และต่อมาเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกอีก ๑,๐๐๐ รูป

8 เมื่อพระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งแคว้นมคธ ได้ทรงฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว จึงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสมาก ได้ประกาศพระองค์เป็นอุบาสก ซึ่งพระองค์เป็นพระราชาองค์แรกที่เป็นพุทธมามกะ และทรงมีพระราชประสงค์จะจัดหาสถานที่ประทับที่เหมาะสมแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์จึงได้ทรงถวายพระราชอุทยานเวฬุวันแก่พระพุทธเจ้า   เวฬุวันมหาวิหาร เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของกรุง ราชคฤห์ สร้างถวายโดยพระเจ้าพิมพิสาร การที่พระเจ้าพิมพิสารถวายพระราชอุทยานเวฬุวันก็ด้วยทรงพิจารณาถึงลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสม คือ

9 ๑. เป็นสถานที่ที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้านนัก ประชาชนสะดวกต่อการเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
๒. ตอนกลางวัน มีผู้คนไม่พลุกพล่าน ส่วนตอนกลางคืนจะเงียบสงัดไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครม ๓. ไม่มีเสียงรบกวนจากคนที่เดินเข้าออก เหมาะสมจะเป็นที่บำเพ็ญภาวนาของผู้ที่ต้องการความสงบ พระพุทธเจ้าทรงรับและอนุโมทนาแก่พระเจ้าพิมพิสาร หลังจากนั้นจึงมีพระพุทธดำรัสอนุญาตให้ภิกษุอยู่ในวัดเวฬุวันหรือวัดสวนไผ่ นับว่าเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีสภาพเป็นป่าไม้ไผ่อันสงบร่มรื่น พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่ออกไปจนถึงรัฐและเมืองต่าง ๆ ผู้มีศรัทธาได้สร้างวัดถวายเป็นจำนวนมาก วัดที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษา และมีชื่อปรากฏในพระไตรปิฎกนอกจากวัดเวฬุวันแล้วยังมีวัดพระเชตวันมหาวิหารเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ซึ่งสร้างถวายโดยท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

10 การสร้างวัดในประเทศไทย
พระพุทธศาสนาไปเผยแผ่เข้าสู่ประเทศไทยหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว โดยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก จึงได้ส่งสมณทูตออกประกาศพระพุทธศาสนาถึง ๙ สาย และส่งสมณทูตเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิ ๒ รูป คือ พระโสณะ และ พระอุตตระ ได้มาประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่แคว้นทวารวดี คือ เมืองนครปฐม ในปัจจุบัน

11 เมื่อมีผู้นับถือพระพุทธศาสนามากขึ้นและมีผู้ขอบวชจึงเกิดมีวัดมากขึ้น ซึ่งการสร้างวัดแต่เดิมนั้น มีจุดประสงค์ คือ การสร้างเจดีย์เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เรียกว่า “วัดพุทธเจดีย์” โดยมีวิหารอยู่ข้างหน้าเพื่อเป็นที่ประชุมสงฆ์ เพราะในสมัยพุทธกาล พระสงฆ์จะหยุดพักเพื่อจำพรรษาเฉพาะในฤดูฝน ส่วนในฤดูอื่น ๆ พระสงฆ์จะออกสั่งสอนศาสนธรรมไปยังที่ต่าง ๆ เป็นกิจวัตร ต่อมาเกิดความนิยมสร้างวัดเพื่อเป็น “อนุสาวรีย์” เป็นที่ระลึกสำหรับวงศ์ตระกูลของผู้มีฐานะดี เมื่อประชาชนมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้น จึงมีการสร้างวัดเพิ่มขึ้นตามความต้องการของประชาชนผู้นับถือพระพุทธศาสนา ความมุ่งหมายในการสร้างวัดก็แตกต่างไปจากเดิม คือ ต้องการมีวัดเพื่อเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ซึ่งจะได้ทำบุญบำเพ็ญกุศลกันตามประเพณีได้แก่ การทำบุญตักบาตร ให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ ฟังธรรม และสวดมนต์ไหว้พระ เป็นต้น ตลอดจนเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ จัดงานรื่นเริงในเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานสงกรานต์ ทอดกฐินผ้าป่า เป็นต้น 

12 จัดทำโดย พระมหาปรีชา ปภสฺสโร ประธานชมรมลานความคิด ผลิตสื่อการเรียนรู้พุทธศาสนา
ร่วมกันเผยแผ่ธรรมะให้โลกสวยด้วยมือเรา จัดทำเพื่อแจกเป็นธรรมทาน ติดต่อขอรับสื่อ และร่วมบริจาคผลิตสื่อด้ที่ พระมหาปรีชา ปภสฺสโร ๐๘๖-๖๘๕-๓๗๙๕ วัดลาดบัวขาว ถ.เจริญกรุง ๘๐ เขตบางคอแหลม กรุงเทพ ฯ ๑๐๑๒๐


ดาวน์โหลด ppt พระสงฆ์ พุทธสาวก พุทธสาวิกา

งานนำเสนอที่คล้ายกัน


Ads by Google